ที่เมืองดั๊กจึง แขวงเซกอง ประเทศลาว พิธีที่ใกล้สูญหายไปจากประเทศ กลางป่าลึกบนดินแดนลาวตอนใต้ ยังมีชนเผ่าที่ยึดถือการบูชาผี
ครั้งนี้เป็นการเดินทางท่องเที่ยวและร่วมชมประเพณีกินฮีตหรือแทงฮีตเมื่อ 3 ปีก่อนที่จะเกิด Blog วันนี้เลยนำกลับมาเขียนใหม่ เผื่อว่าจะมีประโยชน์สำหรับเพื่อนที่กำลังจะเดินทาง คณะผมไปทั้งหมด 5 คนด้วยรถกระบะ ใช้เส้นทาง กรุงเทพ-อุบลราชธานี ผ่านข้ามแดนที่ด่านช่องเม็ก เดินทางออกจากกรุงเทพ 5 โมงเย็น ถึงด่านช่องเม็ก จังหวัดอุบลราชธานีเช้ามึด ทำเรื่องผ่านข้ามแดน แล้วเดินทางต่อไปแขวงจำปาสักทันที
หมู่บ้านที่ถูกตัดขาดจากโลกภายนอกแขวงที่มีประชากรน้อยที่สุดในประเทศลาว เส้นทางที่ยากต่อการเข้าถึง และข้อมูลที่มีอยู่น้อยมาก ร่วมชมประเพณีที่ใกล้หมดไปจากประเทศ เติมเต็มด้วยรอยยิ้มดิบเดิมของเด็กๆ
ข้อมูล
เซกอง (ลาว: ເຊກອງ) เป็นหนึ่งในแขวงของประเทศลาว ตั้งอยู่ทางตะวันออกเฉียงใต้ของประเทศ ติดกับประเทศเวียดนาม ประชากรส่วนใหญ่ของแขวงเป็นชนเผ่าลาวเทิง พูดภาษาในตระกูลมอญ-เขมร มีเผ่าย่อยออกไปหลายเผ่า
ด๊ากจึง (ลาว: ດັກຈຶງ) เมืองชายแดนติดประเทศเวียดนาม ห่างจากแขวงเซกองไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ พูดภาษาด๊ากกังโดยเฉพาะเมืองด๊ากจึง ที่เป็นภาษาประจำเผ่าเตรียง พบอยู่มากที่แขวงเซกอง

Day1 (Champasak – Xekong – Dakchung) จำปาสักเป็นจุดที่คณะเรานัดกับผู้นำทางเป็นพิธีกรทำรายการท่องเที่ยวในฝั่งลาว รู้จักในนาม “โจแดนจำปา” กับรายการที่ได้รับความนิยมอย่างรายการ “Discovery Lao” ด้วยเส้นทางบางช่วงเป็นทางออฟโรดเหตุนี้เราจำเป็นต้องมีเจ้าถิ่นคอยนำทาง
เริ่มต้นที่ดินแดนลาว จากเมื่อคืนที่นั่งหลับมาตลอดก็ถึงคิวที่ต้องรับไม้ต่อ การขับรถในลาวต้องระมัดระวัง เพราะเป็นประเทศที่วิ่งเลนขวาสลับกันกับไทย เราต้องไปถึงเมืองเซกองก่อน 4 โมงเย็น เพื่อให้ทันแพข้ามแม่น้ำเซกองเที่ยวสุดท้าย และจากเซกองไปเมืองด๊ากจึงก็ต้องเผื่อเวลาไว้อีก เพราะเป็นเส้นทางออฟโรด และที่ทำให้คณะเราถอดใจ คือรถที่เราเอามาเป็นรถขับเคลื่อน 2 ล้อ

ย้อนไปตอนที่ส่งรูปรถให้อ้ายโจ พี่แกเข้าใจว่าเป็นรถขับเคลื่อน 4ล้อ พอรู้ว่าไม่ใช่เท่านั้นแหละถึงกับเอ่ยปากว่าตั้งแต่ไปมายังไม่เคยเห็นใครเอารถแบบนี้ขึ้นไปถึงเลย แต่เอาไงได้มาถึงแล้วกลับไม่ได้ต้องลุยต่ออย่างเดียว
เวลาล่วงเลยไป 4 โมงเย็นแต่ทันเวลาขึ้นแพข้ามแม่น้ำเซกองเที่ยวสุดท้ายพอดี หลังข้ามแม่น้ำได้ เส้นทางก็เริ่มยากขึ้นไม่สามารถคาดเดาได้ว่าเราจะถึงด๊ากจึงกี่โมง จากภาพแค่เริ่มออกมานิดเดียวก็เป็นอย่างที่เห็น ทางเป็นโคลน หนักขึ้นเริ่มติดหล่มจนต้องหยุดพักเป็นระยะ

ฟ้ามึดยิ่งทำให้การเดินทางยากขึ้นอีก ไม่ว่าจะติดหล่ม หลงทาง แถมเจอฝน ขีดจำกัดของรถเป็นอุปสรรคอย่างมาก หลุดหล่มไปไม่กี่เมตรก็ติดอีก บางช่วงข้ามลำธาร ความรู้สึกตอนนั้นอธิบายไม่ได้ เราไม่รู้ว่าจะไปถึงจุดหมายเมื่อไหร่ แต่สุดท้ายเราก็มาถึงในเวลา 5 ทุ่ม สรุปตั้งแต่ข้ามแม่น้ำเซกองเราใช้เวลาไป 7 ชั่วโมง กับระยะทาง 98กิโลเมตร และถ้ารวมตั้งแต่กรุงเทพ ก็เกือบ 22 ชั่วโมง เป็นการเดินทางที่ยาวนานมากสำหรับผม
Day2 (Dakchung – Proud Village) ตื่นมาได้เห็นวิวรอบๆที่พักเป็นครั้งแรกสภาพก็อย่างที่เห็นครับเป็นดินแดง ดูจากสภาพรถก็บอกได้ว่าเมื่อคืนหนักหนาสาหัสขนาดไหนกว่าจะมาถึงเกสเฮ้าส์เพียงแห่งเดียวชื่อ "เรือนวันนา" เจ้าของนิสัยน่ารักมาก บ้านพี่เขาอยู่ใกล้ๆ คอยออกมาพูดคุยและชวนกินข้าวที่บ้าน เป้าหมายวันนี้คือหมู่บ้านปร้าว หมู่บ้านของชนเผ่ากะตู้จะมีงานแต่งงาน ในพิธีจะมีการแทงฮีตเพื่อบูชาผีตามความเชื่อ อยู่ห่างจากเมืองด๊ากจึงประมาณ 20 กิโลเมตรเส้นทางก็หนักหน่วงเช่นเดิม

พิธีแทงฮีต หรือแทงควาย, กินฮีต ตามความเชื่อแล้วทำเพื่อบูชาผีบรรพบุรุษในวาระที่ต่างกันออกไป เช่น งานบุญ งานปีใหม่ หรืองานแต่งงาน เพื่อบอกกล่าว และความเป็นสิริมงคล ในหมู่บ้าน
กาลเวลาผ่านไปพิธีกรรมนี้เริ่มจะมีให้เห็นน้อยลง เริ่มมีกระแสต่อต้านกันมากขึ้นในเรื่องการทารุณสัตว์ เนื่องจากความเจริญ การศึกษาเข้าถึงแต่ที่นี่ยังคงยึดถือพิธีกรรมไว้อย่างเหนียวแน่นจวบจนปัจจุบัน
พิธีการแทงฮีต เริ่มจากคัดเลือกควาย ชาวบ้านเชื่อว่าเป็นควายที่ถูกคัดเลือกนั้นเป็นควายที่มีบุญบารมีจะถูกนำมาพูกกับเสาที่เรียกว่า จรอม
ปัจจุบันมีการปรับปรุงโดยแทงพอพิธี และให้ใช้การเชือดแทน เมื่อควายล้มหมอผีจะนำเลือดไปบูชาพร้อมทั้งแจกจ่ายให้แต่ละบ้านนำไปไหว้อีกที หลังจากนี้ก็จะเป็นเรื่องของการฉลอง โดยใช้วัตถุดิบคือ ควายที่เพิ่งล้มทำพีธีนั้นเอง
แม้ว่าจะมีกระแสต่อต้านเรื่องการทารุณสัตว์และปัญหาประชากรควายที่ลดลง แต่ชาวบ้านก็ยังคงยึดถือประเพณีนี้ต่อไป ทั้งนี้ทางรัฐบาลลาวได้ทำความเข้าใจระหว่างชาวบ้านกับนักอนุรักษ์ และจัดระบบประชากรควาย โดยควายที่นำมาเข้าพิธีต้องขออนุญาติ ซึ่งได้กำหนดโควต้าในแต่ล่ะปี ถือว่าเป็นแนวทางปฎิบัติที่ทำให้ประเพณี พิธีกรรม ความเชื่อที่แตกต่างกันออกไปอยู่ร่วมกันได้ในสังคม

คณะเราอยู่จนจบพิธีแล้ว มีการฉลองด้วยเนื้อควายตัวนั้น แต่ทุกคนรับสภาพยังไม่ได้ทานอะไรไม่ลงทั้งนั้น กลับถึงที่พักไปนั่งทานข้าวที่บ้านเจ้าของเกสเฮ้าส์ รุ่งขึ้นก็ร่ำลาทุกคนแล้วออกเดินทางกลับด้วยเส้นทางเดิมแต่ไม่หนักเหมือนตอนมา เพราะถนนแห้ง
อ่านมาถึงบรรทัดนี้ก็ขอขอบคุณทุกคน ผมจะพยายามเก็บรวบรวมการเดินทางทั้งที่ผ่านมาแล้วและที่กำลังจะเกิดขึ้นมาลงให้อ่านกัน หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับคนที่จะเดินทางไป สุดท้ายขอบคุณเพื่อนร่วมทริปทุกคนแล้วเจอกันใหม่ทริปหน้า สวัสดีครับ